วันพุธที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2550
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ พระนามเดิม พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเจ้าจอมมารดาสังวาลย์ ธิดานายศัลยวิชัย ( ทองคำ ณ ราชสีมา ) ประสูติเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๐๐ ทรงเป็นพระบิดาแห่งภาพยนตร์ไทย
พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ ทรงพระปรีชาในด้านงานช่าง ทรงร่วมรับหน้าที่บูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อครั้งสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๑๐๐ ปี พ.ศ. ๒๔๒๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมเกียรติพระองค์ ทรงกรมเป็น กรมหมื่นสรรพสาตรศุภกิจ ผู้บังคับการกรมช่างมหาดเล็ก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑ ทรงบังคับบัญชางานช่างต่างๆ ในพระบรมมหาราชวังชั้นใน พระราชวังบางปะอิน สวนสราญรมย์ ทรงรับผิดชอบงานโยธาในการก่อสร้าง พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย และวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
กรมหมื่นสรรพสาตรศุภกิจได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประพาสสิงคโปร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ และได้ทอดพระเนตรภาพยนตร์เป็นครั้งแรก ในปีต่อมา ทรงตามเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้ทรงจัดซื้อเครื่องซีเนมาโตกราฟฟี ซึ่งเป็นทั้งกล้องถ่ายและเครื่องฉายภาพยนตร์ กลับมาเมืองไทยด้วย ภาพบันทึกเหตุการณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรป เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๐ นับเป็นภาพยนตร์ม้วนแรกสุดในโลกที่ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับชาติไทย
ภาพแสตมป์ที่ระลึก ๑๐๐ ปี ภาพยนตร์ไทย พ.ศ. ๒๔๔๐ - ๒๕๔๐
กรมหมื่นสรรพสาตรศุภกิจได้ทรงถ่ายทำภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์เบ็ดเตล็ด ทั้งในและนอกเขตพระราชวัง จนถึงภาพพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงเป็นผู้ดำเนินธุรกิจจัดฉายภาพยนตร์เก็บค่าดูจากสาธารณชน ที่บริเวณวังสรรพสาตรศุภกิจ และในงานออกร้านประจำปีวัดเบญจมบพิตร นับว่าทรงเป็นพระบิดาแห่งภาพยนตร์ไทย
พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ ทรงประทับอยู่ที่วังสรรพสาตรศุภกิจ ที่ก่อสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ วังนี้ถูกไฟไหม้หมดจนเหลือแต่ซุ้มประตูทางเข้าวัง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ และมีการสร้างตึกแถวสมัยใหม่ขึ้นมาแทน ปัจจุบันย่านนี้เรียกว่า แพร่งสรรพศาสตร์
พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ ทรงได้รับเฉลิมพระเกียรติเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับราชการตำแหน่งสุดท้ายเป็น นายพันเอกราชองครักษ์ ทรงสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๒ พระชนมายุได้ ๖๒ พรรษา ทรงเป็นต้นราชสกุล ทองแถม และทรงมีเชื้อสายที่ไม่ได้นับเป็นราชสกุล คือสกุล ทองเจือ และ สุวรรณรัฐ
พระโอรส-ธิดา
หม่อมเจ้าเม้า รองทรง พระธิดาในพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารองทรง กรมหมื่นสิทธิสุขุมการ ราชสกุลวังหน้าในรัชกาลที่ ๒
หม่อมเจ้าทองเชื้อธรรมชาติ ทองแถม (พ.ศ. ๒๔๒๗-๒๔๗๖) เษกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงพันธ์สิหิงค์ ทองใหญ่
หม่อมเจ้าทองชมพูนุท ทองแถม (พ.ศ. ๒๔๓๓-๒๔๙๑) เษกสมรสกับ หม่อมหลวงแฉล้ม
หม่อมเจ้าทองเติม ทองแถม (พ.ศ. ๒๔๓๕-?) เษกสมรส
หม่อมเจ้าทองต่อ ทองแถม (พ.ศ. ๒๔๓๖-๒๕๐๑) เษกสมรสกับ หม่อมเจ้าพิมพ์รำไพ รพีพัฒน์
หม่อมเจ้าหญิงทองบรรณาการ ทองแถม (พ.ศ. ๒๔๔๖-ปัจจุบัน?) เษกสมรส หม่อมเจ้าเม้า รองทรง
หม่อมเจ้าหญิงเครือมาศวิมล ทองแถม (พ.ศ. ๒๔๒๗-๒๔๘๒) หม่อมราชวงศ์เกษรสุมาลี อิศรางกูร
ธิดาในหม่อมเจ้าตุ้ม อิศรางกูร น้องสาวหม่อมราชวงศ์เกษรสุมาลี อิศรางกูร
หม่อมเจ้าหญิงกนกนารี ทองแถม (พ.ศ. ๒๔๓๗-๒๕๑๑)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น